การเปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์จะช่วยให้คุณสะดวกในการเลือกซื้อประกันมากขึ้น

ประกันภัยรถยนต์ หรือ ประกันรถยนต์ (car insurance) นั้น มีรายละเอียดมากมายที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะนอกจากจะมีประกันรถยนต์ภาคบังคับที่กฎหมายบอกว่ายานพาหนะทุกคันต้องทำแล้ว ยังมีประกันรถยนต์ภาคสมัครใจอีก แล้วในเรื่องของความคุ้มครองนั้นมันต่างกันอย่างไร มีความคุ้มครองอะไรบ้าง นอกจากความคุ้มครองแล้ว ยังมีในส่วนของ ชั้นต่างๆ ที่แยกประกันรถยนต์แต่ละชั้น โดยเปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์ที่มีความคุ้มครองแตกต่างกันออกไปอีกด้วย

โดยความคุ้มครองส่วนมากจะอยู่ในประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งจะอธิบายต่อไปในหัวข้อต่างๆ ด้านล่าง แต่สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่า แล้วประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนั้นคืออะไร คำตอบง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” นั่นเอง โดยชื่อเต็มๆ ก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งความตั้งใจของกฎหมายที่ว่านี้ก็เพื่อคุ้มครองบุคคลที่สามที่ได้รับประสบภัยจากรถนั่นเอง โดยผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. กล่าวโดยละเอียดก็คือ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้

การเปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์ของความคุ้มครองกรณีรถยนต์หาย หนึ่งในความคุ้มครองที่สำคัญ และมีประโยชน์มากๆ ในยุคที่มิจฉาชีพขโมยรถมีอยู่เต็มไปหมด ก็คือ ความคุ้มครองรถยนต์ในกรณีของรถยนต์สูญหาย ซึ่งหลายๆ คนอาจสงสัยว่า หากรถสูญหายขึ้นมาจริงๆ บริษัทประกันรถยนต์ ที่เราทำประกันรถยนต์ด้วยนั้น จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และมีเงื่อนไขการจ่ายเงินอย่างไร

โดยตามกฏระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น มีการควบคุมบริษัทประกันภัยในเรื่องของการชดเชยค่าสินไหมกรณีรถหายอย่างชัดเจน

โดยกรณีที่จะเข้าข่ายว่าบริษัทประกัน “ประวิงเวลา” การจ่ายค่าสินไหมทดแทน มีดังนี้

หากรถหายและผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามแต่กรณี ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยรถยนต์อย่างชัดเจนจากเหตุรถยนต์หาย โดยได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ว่า บริษัทไม่ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ กรณีนี้นับเป็นการประวิงเวลา ถือว่าผิด

ในกรณีที่บริษัทประกันเกิดความสงสัยว่าการแจ้งขอค่าสินไหมชดเชยจากเหตุรถยนต์หาย ดำเนินไปอย่างไม่สุจริต และบริษัทประกันได้แจ้งแก่กรมการประกันภัยแล้ว แต่บริษัทยังไม่จ่ายค่าสินไหมชดเชยภายในเวลา 45 วันนับตั้งแต่เกิดเหตุรถยนต์หาย ถือว่าเป็นการประวิงเวลาเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่า ประเด็นดังกล่าวมีมูล และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีอาญากับผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์แล้วแต่กรณี

โดยในทั้งสองกรณีนี้ หากบริษัทประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาที่กำหนด คปภ. จะถือว่าบริษัทประกันภัย ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และสามารถลงโทษบริษัทประกันภัยได้โดยทำการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทและเรียกเก็บค่าปรับได้ตามสมควรนั่นเอง