สถาปัตยกรรมแบบบ้านสไตล์โคโลเนียลเป็นอย่างไร

สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลหรือบ้านสไตล์โคโลเนียลเป็นสถาปัตยกรรมที่มาจากการเข้าไปยึดครองของฝรั่ง เกิดเป็นการสร้างบ้านแบบฝรั่งผสมกับท้องถิ่นที่เป็นอาณานิคม Colony แปลว่า อาณานิคม เมืองขึ้น หรือหัวเมืองประเทศราช ส่วน Colonial เป็นคำ adjective แปลว่า เกี่ยวกับอาณานิคม ดังนั้นคำว่า Colonial Style จึงหมายถึงศิลปะแบบอาณานิคม  ซึ่งในยุคล่าอาณานิคมมหาอำนาจชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ได้เข้ามาปลูกสร้างอาคารต่างๆเอาไว้ในเมืองขึ้นของตน สรุปคร่าวๆ ก็คือ Colonial Style เป็นศิลปะแบบตะวันตกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงล่าอาณานิคม ซึ่งพบเห็นได้ในแถบประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่สำหรับ “สยาม” เราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร ถึงกระนั้นสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคนั้นก็เข้ามายังสยามด้วยเหมือนกัน รูปแบบของสถาปัตยกรรมจึงมีลักษณะผสมผสาน Colonial style ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่จะได้รับอิทธิพลของช่างพื้นถิ่นเข้าไปผสมอยู่ด้วย

สถาปัตยกรรมรูปแบบบ้านสไตล์โคโลเนียลเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เริ่มแพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5-6  ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นมักจะเรียกกันอย่างติดปากว่า  “ตึกฝรั่ง” ซึ่งรูปแบบของอาคารแบบโคโลเนียลนั้นจะมีความหลากหลายตามอิทธิพลที่มาจากต่างแหล่งกลุ่มชนกัน  เนื่องจากในเบื้องต้นนั้น รูปแบบโคโลเนียล ก็คือ การนำเอาสถาปัตยกรรมของประเทศแม่ไปก่อสร้างในดินแดนอาณานิคม แล้วจึงค่อยปรับรูปแบบสู่ลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ตามสภาพอากาศในแต่ละพื้นถิ่น  ดังนั้นอาคารรูปแบบนี้จึงสามารถเรียกอีกชื่อได้ว่า เป็น “สถาปัตยกรรมอาณานิคม ”  ดังตัวอย่างอาคารโคโลเนียลหลายหลังที่ยังคงมีลักษณะของอิทธิพลคลาสสิคอยู่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มโรแมนติค เช่น อาคารที่มีการประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ ที่เรียกกันว่า “เรือนขนมปังขิง”   ซึ่งรูปแบบโคโลเนียลนี้ในช่วงแรกได้เข้ามาพร้อมกับกลุ่มมิชชันนารี ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในดินแดนอาณานิคมและดินแดนใกล้เคียง จึงสามารถจัดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมัชชันนารี ( Mission Style ) ให้เข้าไว้ในกลุ่มนี้ได้ด้วย

เรามักอนุโลมเรียกบ้านเรือนที่ปลูกสร้างโดยชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมว่าเป็น “ศิลปะแบบอาณานิคม” หรือ “อาคารแบบโคโลเนียล” (Colonial Style) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ ด้านหน้าของอาคารชั้นล่างมักทำช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า “อาเขต” (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “หง่อคาขี่” หมายถึงทางเดินกว้างห้าฟุต นอกจากอาเขตแล้ว อาคารและบ้านสไตล์โคโลเนียลยังอาจนำลวดลายบางอย่างของศิลปะตะวันตกสมัยกรีก โรมัน ที่เรียกว่า “สมัยคลาสสิก” มาใช้ใหม่ เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบโยนิก หรือไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ทำให้นักวิชาการบางท่านซึ่งไม่ชอบคำว่าสถาปัตยกรรมแบบบ้านสไตล์โคโลเนียล เพราะมีลักษณะของการกดขี่แฝงอยู่ เลี่ยงมาใช้คำว่า “นีโอคลาสสิก”แทน เนื่องจากเป็นคำกลางๆที่ใช้เรียกงานศิลปะซึ่งนำรูปแบบคลาสสิกกลับมาใช้อีกครั้ง

รูปแบบสถาปัตยกรรมหรือแบบบ้านบ้านสไตล์โคโลเนียล มักมีลักษณะเด่นในการออกแบบรูปทรงอาคารดังนี้

  1. รูปทรงอาคารเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร (square and symmetrical shape)
  2. มีการเน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร (central door)
  1. มีการใช้ชุดเสาสูงเป็นแนวรับชายคากว้าง (colonnade) ป้องกันแดด ลม ฝน และเป็นซุ้ม เพื่อเน้นบริเวณทางเข้า-ออก
  2. มีการออกแบบแนวเส้นประตูหน้าต่างของบ้านให้เป็นระเบียบในแนวเดียวกัน ผนังส่วนใหญ่เป็นผนังไม้ตีซ้อนเกล็ด สลับไปกับโครงสร้างปูน อาจประดับตกแต่ง ด้วยบัวปูนปั้นรอบชายคา บัวหัวเสา หรือรอบกรอบหน้าต่าง
  3. มีระเบียงโดยรอบ